แสงสว่างที่ช่วยให้เรามองเห็นในยามค่ำคืนจากโคมไฟและหลอดไฟทั้งหลายที่ติดตั้งอยู่ภายในบ้าน แม้จะให้แสงสว่างที่ช่วยให้รายละเอียดของวัตถุต่างๆ สามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งๆ นั้นคืออะไร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าระดับความสว่างจะเพียงพอกับกิจกรรมที่ต้องใช้ดวงตาในการทำงาน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่เรามักทำก็คือการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านเพื่อความผ่อนคลายก่อนนอน การอ่านหนังสือเตรียมสอบ ไปจนถึงการอ่านเพื่อนำไปใช้ทำงาน ก็ล้วนเป็นการอ่านที่จำเป็นต้องใช้สายตา และแสงสว่างที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่มองเห็นตัวหนังสือเท่านั้น ระดับแสงไฟที่ไม่เพียงพอ มืดหรือสว่างจ้ามากเกินไป จะทำให้การอ่านสะดุด รู้สึกไม่สบายตา ปวดลูกตา หากปล่อยทิ้งเอาไว้นานๆ อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาสุขภาพดวงตาตามมา เพราะฉะนั้นเราควรเลือกหลอดไฟและโคมไฟที่เหมาะสมมากที่สุด เพื่อให้กิจกรรมการอ่านหนังสือกลายเป็นความสุขอย่างหนึ่งในบ้านของตัวเอง
ทิศทางการจัดวางแสงไฟที่เหมาะสมกับการอ่านหนังสือ
ทิศทางของแสงไฟและตำแหน่งที่ติดตั้งโคมไฟ เป็นหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่จะตัดสินได้ว่าห้องที่เราใช้อ่านหนังสือเหมาะสำหรับการใช้งานมากน้อยแค่ไหน การวางโคมไฟที่ถูกต้องจึงควรคำนึงถึงระดับความสูงและองศาให้เหมาะสม โคมไฟควรตั้งอยู่ด้านข้าง เยื้องไปทางด้านหลังเล็กน้อย และให้อยู่เหนือระดับสายตา การวางให้อยู่ในด้านตรงข้ามมือที่ถนัด จะช่วยลดแสงเงาจากมือที่กระทบกับแสงไฟ
ประเภทของโคมไฟที่ถูกต้องสำหรับใช้อ่านหนังสือโดยเฉพาะ
การใช้ประโยชน์ควรมาเป็นอันดับหนึ่งสำหรับโคมไฟอ่านหนังสือ ก่อนจะเลือกความสวยงามให้เป็นอันดับรอง หลักการเลือกซื้อโคมไฟที่มีหลากหลายชนิดในปัจจุบันให้เหมาะกับการใช้งานในด้านนี้ ควรเลือกชนิดที่มีฟิลเตอร์กึ่งโปร่งแสง เช่น ลินิน ไฟเบอร์กลาส หนัง และกระดาษ เป็นต้น วัสดุเหล่านี้จะช่วยตัดทำให้แสงจากหลอดไฟด้านในถูกตัดทอนให้อ่อนลง มีความนุ่มละมุน การกระจายตัวของแสงทำได้ดี ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องในการอ่านหนังสือ ซึ่งเราจะไม่ใช้แสงสว่างจากหลอดไฟโดยตรง แต่จะใช้แสงสว่างที่เกิดจากการสะท้อนจากโคมไฟ เพื่อช่วยถนอมสายตาไปในตัวนั่นเอง
ระดับความสว่างของแสงไฟจากหลอดไฟในระดับที่สบายตา
ระดับความสว่างหรือในที่นี้เราจะหมายถึง "สี" ของแสงที่จะใช้ ซึ่งนั่นก็คืออุณหภูมิแสง โดยคนส่วนใหญ่มักเลือกใช้แสงที่เรียกว่า Warm White หรือ Cool White ในการอ่านหนังสือ แต่เราควรเลือกระดับอุณหภูมิแสงอให้อยู่ที่ 4000 - 4500K ซึ่งจัดอยู่ในแสงสว่างแบบ Cool White ที่จะช่วยให้การอ่านสบายตา แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถเลือกเป็นแสงแบบ Warm White ที่มีความสว่างตั้งแต่ 50,150 และ 150 วัตต์ ได้ โดยเลือกใช้เป็นหลอดไส้ ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่น ทำให้ห้องอ่านหนังสือดูน่าใช้งาน และที่สำคัญสบายตาไม่แพ้ Cool White
ข้อควรรู้สำหรับการจัดแสงให้สบายตามากที่สุด
1. แสงสว่างแปรผันไปตามอายุ - ตามหลักมาตรฐานที่กล่าวไปข้างต้น อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคนเสมอไป เพราะเมื่ออายุของเรามากขึ้น ดวงตาย่อมมีการเสื่อมสภาพ การใช้งานแสงสว่างจึงแตกต่างกันออกไปตามแต่ช่วงอายุของบุคคล อายุมากขึ้นก็จะต้องการแสงสว่างในการอ่านหนังสือมากขึ้นตามมา เฉลี่ยง่ายๆ คือทุกปีที่อายุเพิ่มขึ้นมา ความสว่างที่ต้องการก็จะเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์จากระดับแสงเดิมด้วย
2. ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดแสงสะท้อนจากหลอดไฟ - กรณีที่ชอบอ่านหนังสือกับโคมไฟตั้งโต๊ะทั่วๆ ไป ให้ระมัดระวังการเลือกซื้อหลอดไฟที่มีขนาดยาวออกมาเกินขอบโคมไฟ เพราะจะทำให้แสงสว่างแยงเข้าหางตาขณะอ่านหนังสือ จนทำให้เกิดอาการปวดตา ต้องพักเป็นระยะๆ กลายเป็นสูญเสียอรรถรสในการอ่านเอาได้
3. การจัดการโคมไฟสำหรับคนชอบอ่านหนังสือก่อนนอน - คนที่ชอบกิจกรรมอ่านหนังสือก่อนเข้านอน แนะนำว่าควรเลือกซื้อเป็นโคมไฟแบบติดหัวเตียงโดยเฉพาะจะดีกว่าโคมไฟตั้งโต๊ะ เพราะแสงจะส่องกระทบกับกระดาษได้พอดี การกระจายตัวของแสงก็อยู่ในระดับที่พอดีตามมาด้วย นอกจากนี้ไม่ควรปิดไฟในห้องจนมืดสนิท เหลือแค่แสงไฟจากหัวเตียงเพียงอย่างเดียว ให้ใช้วิธีหรี่ไฟห้องลงเล็กน้อย เพื่อสายตาจะได้ไม่ทำงานหนักจนเกิดอาการเมื่อยล้า ปวดหัว ปวดตาตามมาก่อนเข้านอน
แสงสว่างที่ดีจากโคมไฟควรมีความเหมาะสมกับการอ่านหนังสือในห้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่นที่มักเลือกใช้โคมไฟตั้งโต๊ะหรือโคมไฟตั้งพื้น บางครั้งเราก็เลือกอ่านหนังสือก่อนนอน ก็ให้เลือกติดตั้งโคมไฟที่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ และอย่าลืมเลือกระดับแสงสว่างให้พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป จะได้รู้สึกสบายตา ให้กิจกรรมการอ่านหนังสือภายในบ้านกลายเป็นความสุขที่แสนผ่อนคลายของเหล่าหนอนหนังสือกันได้อย่างเต็มที่